ลักษณะความเชื่อ
การเลี้ยงผี หมายถึงการจัดอาหารคาวหวานไปเซ่นสังเวย ดวงวิญญาณผู้ตาย ณ หิ้งผีปู่ย่าหรือหอผีชาวล้านนาถือว่า เมื่อปู่ ย่า ตา ยาย ตายไปวิญญาณจะวนเวียนมารักษาลูกหลาน ดังนั้นภายในบ้านของชาวล้านนา จึงจัดทำ"หิ้งผีปู่ย่า" ไว้ทุกบ้าน โดยจัดตั้งไว้ที่สูง นิยมจัดตั้งไว้บนหัวนอนของบ้าน สูงจากพื้นกระดานราว ๒ เมตร หิ้งผีปู่ย่านี้ถือว่าเป็นของสูง เด็กๆจะไปเล่นไม่ได้ ผู้อาวุโส หรือพ่อแม่เท่านั้นที่จะเกี่ยวข้องกับหิ้งปู่ย่าได้ นอกจากนี้ชาวชนบทล้านนาบางแห่ง เชื่อว่า ปู่ย่าตายายที่ตายไปแล้วหลายคนและ เป็นญาติพี่น้องสายเลือดเดียวกัน น่าจะอยู่ร่วมกันได้ จึงคิดสร้าง "หอผี" ขึ้น เพื่อให้ผีอยู่ร่วมกัน
ความสำคัญ
การเลี้ยงผีเป็นสิ่งสำคัญที่ผูกพันกับการดำเนินชีวิตเป็นอย่างยิ่ง โดยเชื่อว่าการเลี้ยงผีจะทำให้ครอบครัวอยู่อย่างเป็นสุข
พิธีกรรม
การเลี้ยงผี มี ๒ อย่างคือ
๑. เลี้ยงผีปู่ย่า ทำใน "วันพญาวัน" (วันสงกรานต์) หรือวันปีใหม่ ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกปี
๒. เลี้ยงผีหอ นิยมทำกัน ระหว่างเดือนสี่ เดือนหก เดือนเจ็ด
ขั้นตอนการเลี้ยงผี
๑. ทำความสะอาดหิ้ง และหอผี
๒. บอกกล่าวให้พี่น้องทราบเรื่องการเลี้ยงผี
๓. ร่วมกันจัดอาหารเครื่องเซ่นสังเวยผี
๔. พิธีเลี้ยงผี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
๔.๑ เลี้ยงผีปู่ย่า เจ้าของบ้าน (อาวุโส) นำสิ่งของขึ้นสังเวยหิ้ง แล้วกล่าวคำสังเวยผี
๔.๒ เลี้ยงหอผี
- เหล่าญาติชุมนุมกัน ณ หอผี นำเครื่องดนตรีพื้นบ้าน คือ ปี่ ขลุ่ย สะล้อ ซอ ซึง บรรเลง เพลงขับกล่อมและร้องเพลงค่าว จ๊อย ซอ ด้วยกัน
- ผู้อาวุโส หรือ พ่ออาจารย์กล่าวคำเชิญ ผีปู่ย่า (บางแห่งเรียกว่าผู้กล่าวหา "เจ้าด้าม" หรือ "พ่อเจ้าด้าม")
- ทุกคนที่มาร่วมงานจะเงียบสงบ คอยจ้องมองหอผีรอคอยดูว่า เมื่อใดผีปู่ย่าจะมารับของสังเวย มีข้อสังเกตว่า ถ้ามีผีปู่ย่า มารับเครื่องเซ่นสังเวย ให้ดูเปลวเทียนที่เคลื่อนที่ไหวขึ้นลง หรือแมลงที่ไต่ตอมเครื่องเซ่นสังเวย
สาระ
ประเพณีเลี้ยงผี แสดงให้เห็นถึงการรู้จักตอบแทนผู้มีพระคุณ คือ ปู่ย่าตายาย ทำให้ลูกหลานมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สร้างความสามัคคีระหว่างญาติพี่น้อง